ระบบการออกเสียงบาลี: ฐานกรณ์
ฐานกรณ์ คือ คำซึ่งใช้เรียกอวัยวะต่าง ๆ ในช่องปากที่ใช้ในการออกเสียง ฐานกรณ์ประกอบด้วย ฐานและกรณ์
ฐาน หมายถึง ตำแหน่งที่เกิดของเสียงซึ่งจะเป็นตำแหน่งในช่องปากที่ไม่เคลื่อนที่ในการออกเสียง ได้แก่ ริมฝีปากบน ฟันบน แนวปุ่มเหงือก หลังปุ่มเหงือก หน้าเพดานแข็ง เพดานแข็ง เพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอ
กรณ์ หมายถึงอวัยวะต่าง ๆ ในช่องทางเดินเสียง ซึ่งเคลื่อนไปประชิดหรือใกล้กับฐานในการออกเสียง ได้แก่ ริมฝีปากล่าง ปลายลิ้น ส่วนปลายลิ้น หน้าลิ้น หลังลิ้น กลางลิ้น และโคนลิ้น
ในการออกเสียงต้องใช้อวัยวะที่เป็นฐานและกรณ์คู่กันเสมอ การใช้ฐานกรณ์ต่างกันเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดเสียงแตกต่างกันไป
ดังนั้นจากหลักการออกเสียงบาลีของฐานและกรณ์เบื้องต้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นสำคัญของบาลีในเชิงสัททศาสตร์ประการต่าง ๆ ต่อไปดังนี้
ระบบการออกเสียงบาลี : สระและพยัญชนะ โดยการนำเสนอระบบเสียงที่สืบทอดมา ในคัมภีร์บริวารพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ สัททาวิเสส และสัทนีติสุตตมาลา โดยเปรียบเทียบ กับหลักการทางภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน
สัททอักษรสากลบาลี (International Phonetic Alphabet for Pāḷi : IPA Pāḷi) คือ การถ่ายถอดเสียงบาลีในพระไตรปิฎกที่บันทึกด้วยอักษรโรมัน โดยใช้สัททอักษรสากล (International Phonetic Alphabet : IPA)
การออกเสียงพิเศษของบาลี ได้แก่ การออกเสียงพยัญชนะควบกล้ำกับอัฒสระ และกับพยัญชนะอื่น ๆ บางเสียง โดยใช้เครื่องหมายพิเศษในการพิมพ์ ในการถ่ายถอดเสียงด้วยสัททอักษร สากล ได้ขอเสนอเพิ่มเครื่องหมาย [‿] เพื่อเชื่อมโยงเสียงให้ออกเสียงต่อเนื่องกันไป ซึ่งมีเสียงส่วนหนึ่งเป็นเสียงสะกดท้ายพยางค์แรกและต่อเนื่องไปเป็นเสียงอีกส่วนหนึ่งของพยางค์ถัดไป
ระบบการออกเสียงบาลี : สระและพยัญชนะ หัวข้อนี้นำเสนอระบบเสียงที่สืบทอดมาในคัมภีร์บริวารพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ สัททาวิเสส สัทนีติ เปรียบเทียบกับหลักการทางภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน
ระบบเสียงบาลีประกอบด้วยสระและพยัญชนะ คือ
[แก้]สระ
สระเป็นเสียงพูดประเภทหนึ่งใน 2 ประเภทใหญ่ ซึ่งได้แก่ สระ และพยัญชนะ ในทางสัททศาสตร์ สระหมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาโดยทางลมเปิด ลมต้องผ่านออกกลางลิ้นเสมอ และขณะออกเสียง เส้นเสียงจะสั่น เสียงสระจึงมักเป็นเสียงก้อง ส่วนในทางสัททวิทยาหรือระบบเสียง สระหมายถึงหน่วยทางภาษาหรือหน่วยเสียง (phoneme) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแกน (nucleus) ของพยางค์
ในการเปล่งเสียงสระ ตามปกติเพดานอ่อนยกสูงขึ้นติดผนังคอปิดกั้นมิให้ลมออกทางจมูก จึงเรียกสระเหล่านั้นว่าสระที่เปล่งเสียงในช่องปาก (oral sound) แต่ในบางครั้ง ขณะเปล่งเสียงสระเพดานอ่อนลดต่ำลง พร้อมกับการเปิดทางช่องปาก ลมจึงออกทั้งทางช่องปากและช่องจมูก จึงเรียกสระประเภทนี้ว่า สระลักษณะนาสิก (nasalised vowel)
ในการบรรยายวิธีการเปล่งเสียงสระ เราอาจจำแนกความแตกต่างได้ตามตำแหน่งลิ้นภายในช่องปากเป็นสำคัญ คือ สระที่เปล่งโดยลิ้นอยู่ในบริเวณส่วนหน้าของช่องปากเรียกว่า สระหน้า หากลิ้นอยู่ในบริเวณส่วนหลังของช่องปาก เรียกว่า สระหลัง ถ้าลิ้นอยู่ในบริเวณระหว่างส่วนหน้าและส่วนหลังของช่องปากเรียกว่า สระกลาง (central vowel) นอกจากนี้เราอาจจำแนกสระตามระดับของลิ้น คือ ลิ้นยกสูง ลิ้นลดต่ำ เป็นต้น ตลอดจนพิจารณาตามลักษณะของริมฝีปาก คือ ห่อหรือเหยียดมากน้อยเพียงใด
ในทางสัททวิทยา เมื่อบรรยายสระในภาษาต่าง ๆ อาจใช้คำว่าสระสูง (high vowel) หรือสระปิด (close vowel) เมื่อลิ้นยกสูง
ใช้คำว่าสระต่ำ (low vowel) หรือสระเปิด (open vowel) ในกรณีที่ลิ้นลดต่ำ และสระกลาง (mid vowel) หมายถึง สระลิ้นระดับกลาง
นอกจากนี้สระลักษณะนาสิก (nasalised vowel) อาจจัดกลุ่มเป็นสระนาสิก (nasal vowel) ได้ในลักษณะตรงข้ามกับสระที่เปล่งเสียงในช่องปาก (oral vowel)
[แก้]เสียงสระในบาลี
เสียงสระในบาลีจำแนกออกได้ตามตำแหน่งหน้า-หลังของลิ้น คือ สระหน้า สระกลาง หรือสระหลัง และตามระดับสูง-ต่ำของลิ้น คือ สระสูง สระกลาง หรือสระต่ำ ตลอดจนจำแนกออกตามลักษณะของริมฝีปาก คือ ห่อ หรือไม่ห่อ ได้ดังนี้
ตารางแสดงเสียงสระในบาลี
1. | สระ อะ | a | [a], aṃ [ã] | สระกลาง-ต่ำ | เสียงสั้น | ปากไม่ห่อ |
2. | สระ อา | ā | [aː] | สระกลาง-ต่ำ | เสียงยาว | ปากไม่ห่อ |
3. | สระ อิ | i | [i], iṃ [ĩ] | สระหน้า-สูง | เสียงสั้น | ปากไม่ห่อ |
4. | สระ อี | ī | [iː] | สระหน้า-สูง | เสียงยาว | ปากไม่ห่อ |
5. | สระ อุ | u | [u] | สระหลัง-สูง | เสียงสั้น | ปากห่อ |
6. | สระ อู | ū | [uː], uṃ [ũ] | สระหลัง-สูง | เสียงยาว | ปากไม่ห่อ |
7. | สระ เอ | e | [eː] หรือ [eˑ] | สระหน้า-กลาง | เสียงยาวหรือเสียงกึ่งยาว | ปากไม่ห่อ |
8. | สระ โอ | o | [oː] หรือ [oˑ] | สระหลัง-กลาง | เสียงยาวหรือเสียงกึ่งยาว | ปากห่อ |
ตารางแสดงเสียงสระในบาลี
[แก้]พยัญชนะ
ในทางสัทศาสตร์ เสียงพยัญชนะหมายถึงเสียงที่เปล่งออกมาโดยมีอวัยวะในการเปล่งเสียงหรือฐานกรณ์ (articulators) ดัดแปลงลมในช่องทางเดินเสียงในลักษณะต่าง ๆ เช่น ปิดสนิทกักลมไว้ ปล่อยให้ลมผ่านออกมาได้ ทั้งนี้ลมอาจผ่านออกกลางลิ้นหรือข้างลิ้นในลักษณะเสียงเสียดแทรกหรือเสียงเปิด ลมที่ผ่านออกมา อาจเป็นเสียงก้องหรือไม่ก้องก็ได้
ในทางสัททวิทยา พยัญชนะ หมายถึง หน่วยทางภาษาซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของพยางค์ปรากฏหน้าหรือหลังสระซึ่งเป็นแกนของพยางค์
จากเกณฑ์การพิจารณาพยัญชนะดังกล่าวข้างบนนี้ในทางสัทศาสตร์ เสียงบางเสียงเช่น [j] มีคุณสมบัติทางสัทศาสตร์เช่นเดียวกับเสียงสระ ได้แก่ [i] แต่ในทางสัทวิทยา เสียงนี้หากปรากฏในตำแหน่งขอบพยางค์คือ ในตำแหน่งต้นหรือท้ายพยางค์ เสียงประเภทนี้จะทำหน้าที่เป็นพยัญชนะและมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น เสียงกึ่งสระ (semi-vowel) เสียงเปิด (approximant) เป็นต้น
[แก้]การจำแนกเสียงพยัญชนะ
การจำแนกเสียงพยัญชนะตามแนววิชาสัทศาสตร์ (phonetics) จะใช้ลักษณะ 3 ประการต่อไปนี้เป็นเกณฑ์คือ การจำแนกเสียงพยัญชนะโดยพิจารณาตามฐานที่เกิดของเสียง การจำแนกพยัญชนะตามสภาพของเส้นเสียง และการจำแนกเสียงพยัญชนะตามลักษณะของการเปล่งเสียง
[แก้]การจำแนกเสียงพยัญชนะโดยพิจารณาฐานที่เกิดของเสียง
เสียงพยัญชนะในบาลีจำแนกตามฐานที่เกิดเสียงได้เป็น 8 ประเภท คือ
- ฐานช่องเส้นเสียง (glottal กัณฐชะ) หมายถึง พยัญชนะที่มีฐานกรณ์อยู่ที่ช่องเส้นเสียง ได้แก่ h [ɦ]
- ฐานเพดานอ่อน (velar กัณฐชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยมีฐานเพดานอ่อน และกรณ์ คือ ลิ้นส่วนหลัง ได้แก่ k [k], kh [kʰ], g [g], gh [gʱ], ṅ [ŋ]
- ฐานเพดานแข็ง (palatal ตาลุชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้กรณ์ คือ ลิ้นส่วนหน้ากับฐานเพดานแข็ง ได้แก่ c [c], ch [cʰ], j [ɟ], jh [ɟʱ], ñ [ɲ], y [j]
- ฐานปลายลิ้นม้วน (retroflex มุทธชะ) มีฐานอยู่ที่ส่วนหลังของปุ่มเหงือกหรือส่วนหน้าของเพดานแข็ง หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้ปลายลิ้นเป็นกรณ์ม้วนขึ้นไปแตะหรือใกล้ฐานหลังปุ่มเหงือกหรือหน้าเพดานแข็ง ได้แก่ ṭ [ʈ], ṭh [ʈʰ], ḍ [ɖ], ḍh [ɖʱ], ṇ [ɳ], r [ɻ], ḷ [ɭ]
- ฐานฟัน (dental ทันตชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้กรณ์คือ ปลายลิ้นกับฐาน คือ ฟันบน ได้แก่ t [t̪], th [t̪ʰ], d [d̪], dh [d̪ʱ], n [n̪], s [s̪], l [l̪]
- ฐานริมฝีปาก (bilabial โอฏฐชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้ริมฝีปากทั้งคู่ เป็นฐานและกรณ์ ได้แก่ p [p], ph [pʰ], b [b], bh [bʱ], m [m]
- ฐานริมฝีปากกับฟัน (labio-dental ทันโตฏฐชะ) หมายถึง พยัญชนะที่เปล่งเสียงโดยใช้ริมฝีปากล่างกับฐาน คือ ฟันบน ได้แก่ v [ʋ]
- ฐานช่องจมูก (nasal cavity นาสิกา) หมายถึง เสียงนิคคหิต ( ํ ) = ṃ [ ̃ ] ช่องจมูกที่เป็นทางเดินลมของสระสั้น 3 เสียง ซึ่งเป็นเสียงลักษณะนาสิก ได้แก่ /iṃ/ [ĩ], /aṃ/ [ã] และ /uṃ/ [ũ]
ในการออกเสียงพยัญชนะตามฐานที่เกิดเสียงทั้งหมดนี้ จะต้องมีการปรับสภาพของเส้นเสียงด้วย
[แก้]การจำแนกเสียงพยัญชนะตามสภาพของเส้นเสียง
เสียงพยัญชนะในบาลีอาจจำแนกออกได้ตามลักษณะการทำงานของเส้นเสียงในสภาพที่แตกต่างกันเป็น 2 ชนิด คือ เสียงไม่ก้องหรืออโฆษะ (voiceless sound) และเสียงก้องหรือโฆษะ (voiced sound) ดังนี้
เส้นเสียงสามารถทำงานในลักษณะคล้ายริมฝีปากคืออาจจะอยู่ห่างจากกัน หรือที่เรียกว่าเส้นเสียงเปิด ลมที่ผ่านเส้นเสียงในลักษณะนี้มีลักษณะเป็นลมหายใจ (breath) เส้นเสียงจะไม่สั่นจึงเรียกว่าเสียงไม่ก้องหรือเสียงอโฆษะ ตรงข้ามกับกรณีที่เส้นเสียงเข้ามาประชิดกัน และมีความตึงพอเหมาะ เมื่อมีลมผ่านก็จะดันให้เส้นเสียงเปิดออก ในขณะเดียวกันความตึงของเส้นเสียงก็จะดึงให้เส้นเสียงเข้ามาประชิดกันอีกจนทำให้มีการเปิดและปิดเป็นจังหวะที่เรียกว่า เส้นเสียงสั่น หรือเสียงก้อง หรือเสียงโฆษะ
ตัวอย่างพยัญชนะเสียงอโฆษะ เช่น p [p], ph [pʰ], t [t̪], th [t̪ʰ], s [s̪] ตัวอย่างพยัญชนะเสียงโฆษะ เช่น b [b], bh [bʱ], d [d], m [m], n [n̪], l [l̪]
[แก้]การจำแนกเสียงพยัญชนะตามลักษณะการออกเสียง
เสียงพยัญชนะในบาลีจำแนกตามลักษณะการเปล่งเสียง กล่าวคือ การดัดแปลงลมในช่องทางเดินเสียงขณะที่ออกเสียงพูด ทำให้เกิดเสียงลักษณะต่าง ๆ ได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้
- เสียงกัก (stop) เสียงที่เกิดจากการออกเสียงโดยมีการกักลมในช่วงที่กรณ์เข้าประชิดฐานอย่างสนิท (complete closure) ในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อกรณ์แยกออกจากฐาน คือช่วงการเปิดช่องทางเดินเสียง ถ้าเป็นเสียงระเบิด (plosive) ลมก็จะระเบิดออกมา เช่น p [p], t [t̪], b [b] เสียงระเบิดมีลักษณะที่แตกต่างจากเสียงกัก คือ ในช่วงหลังการกักลม เสียงกักบางประเภท อวัยวะในการเปล่งเสียง เพียงแต่แยกออกจากกัน แต่ไม่มีเสียงระเบิดตามมา แต่บางเสียงมีกระแสลมตามออกมาหลังการระเบิด จึงเรียกว่า เสียงกักที่มีกลุ่มลมหรือเสียงธนิต (aspirated stop) เช่น เสียง ph [pʰ], th [t̪ʰ], bh [bʱ] เป็นต้น ส่วนเสียงกักที่ไม่มีกลุ่มลมตามมาเรียกว่า เสียงกักไม่มีลม หรือ เสียงสิถิล (unaspirated stop) เช่น เสียง p [p], t [t̪], b [b] เป็นต้น
- เสียงเสียดแทรก (fricative) คือเสียงที่เกิดจากการออกเสียงโดยฐานและกรณ์ประชิดกันก่อให้เกิดช่องทางเดินเสียงที่แคบ กระแสลมผ่านออกมาจะเป็นเสียงซ่า หรือเสียงเสียดแทรกในบาลีมี 2 เสียง ได้แก่ s [s̪] , h [ɦ]
- เสียงนาสิก (nasal) เสียงที่เกิดจากการกักลมให้สนิทในปาก เพดานอ่อนลดต่ำลงทำให้ลมผ่านขึ้นไปทางช่องจมูกได้ เช่น m [m], n [n̪], ṅ [ŋ] เป็นต้น และในกรณีที่เป็นเสียงสระ หากเปิดช่องจมูกพร้อมกันไปกับการออกเสียงสระก็จะได้เสียงสระลักษณะนาสิกที่แทนด้วยนิคคหิต (˚) = ṃ [ ̃] เช่นในคำ กึ /kiṃ/ [kĩ] เสียงลักษณะนาสิกนี้เกิดขึ้นได้กับสระเสียงสั้น 3 เสียง คือ อ [a], อิ [i], อุ [u] เป็น [ĩ],[ã],[ũ]เสียงลักษณะนาสิกที่เกิดกับสระนี้ในภาษาไทยไม่มี คนไทยจึงออกเสียงลักษณะนาสิกนี้เป็นเสียงสระกับพยัญชนะนาสิกฐานเพดานอ่อน ง [ŋ] สะกด เช่น เอตํ /etaṃ/ [etã] แต่คนไทยมักจะออกเสียงว่า เอตัง [etaŋ]
- เสียงเปิด หรือ เสียงกึ่งสระ (approximant / semi-vowel) เสียงเปิดทำหน้าที่เป็นพยัญชนะ คือเสียงที่เกิดจากการออกเสียงในลักษณะที่ฐานกรณ์อยู่ใกล้กันไม่มากนัก ทำให้กระแสลมผ่านช่องปากออกไปโดยสะดวก เช่นเดียวกับการเปล่งเสียงสระ ถ้าเสียงนี้ทำหน้าที่เป็นเสียงขอบพยางค์ (marginal sound) หรือเป็นพยัญชนะ เราจะเรียกว่า เสียงเปิด (approximant) หรือ เสียงกึ่งสระ (semi-vowel) คือมีคุณลักษณะเป็นเสียงสระ แต่ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะ เช่น เสียง [j] ใน yo [joː] และเสียง [ʋ] ใน vo [ʋoː] คำ yo [joː] และ vo [ʋoː] เริ่มออกเสียงในช่วงสั้น ๆ ในลักษณะช่องทางเดินเสียงเปิดเช่นเดียวกับสระ i [i] แล้วจึงเลื่อนไปยังเสียงสระ o [oː] ที่เป็นแกนพยางค์ ทำให้เกิดเสียง y [j] ซึ่งมีกรณ์คือ ลิ้นส่วนหน้ายกขึ้นสูงไปยังฐานเพดานแข็ง ริมฝีปากเหยียดเส้นเสียงสั่น [j] เป็นเสียงพยัญชนะของอักษร y ในบาลี ส่วนคำ vo [ʋoː] เริ่มออกเสียงในช่วงสั้น ๆ ในลักษณะช่องทางเดินเสียงเปิดเช่นเดียวกับสระ u [u] แล้วจึงเลื่อนไปยังสระ o [oː] ที่เป็นแกนพยางค์ทำให้เกิดเสียง v [ʋ] ซึ่งมีกรณ์คือลิ้นส่วนหลังยกขึ้นสูงไปยังฐานเพดานอ่อน ริมฝีปากห่อเส้นเสียงสั่น [ʋ] เป็นเสียงพยัญชนะของอักษร v ในบาลี สรุปว่าเสียง “กึ่งสระ” หรือ “อัฒสระ” คือเสียงที่มีลักษณะการออกเสียงเช่นเดียวกับเสียงสระ แต่มีหน้าที่พยัญชนะ หรือเป็นเสียงขอบพยางค์ คือเกิดในช่วงสั้น ๆ ของพยางค์ ซึ่งในไวยากรณ์บาลี เรียกว่า อัฑฒสระพยัญชนะ ได้แก่ y [j], v [ʋ] , r [ɻ] , l [l̪] , ḷ [ɭ] เป็นต้น
- เสียงเปิดข้างลิ้น (lateral approximant) คือเสียงที่เกิดจากการออกเสียงในลักษณะที่ลมออกข้างลิ้น คือกรณ์เข้าประชิดฐานโดยสนิท แต่ส่วนข้างของลิ้นจะอยู่ห่างจากฐานในลักษณะเปิดให้กระแสลมออกมาได้สะดวก จากคำจำกัดความนี้ ในบาลีมีอยู่ 2 เสียง คือ l [l̪] ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดจากปลายลิ้นยกขึ้นไปแตะฟันบนและข้างลิ้นลดลง และเสียงลิ้นม้วน ḷ [ɭ] ซึ่งปลายลิ้นม้วนขึ้นไปแตะหลังปุ่มเหงือกหรือหน้าเพดานแข็ง และข้างลิ้นเปิด
- เสียงเปิดลิ้นม้วน (retroflex approximant) คือเสียงที่เกิดจากการม้วนลิ้นขึ้นไปใกล้ฐานส่วนหลังของปุ่มเหงือกหรือส่วนหน้าของเพดานแข็งในลักษณะเปิดให้กระแสลมออกมาได้สะดวก ได้แก่ r [ɻ]
ตารางแสดงเสียงสระในบาลี เมื่อประกอบกับเสียงพยัญชนะ
cittam | |||
devī | |||
atha | |||
devā | |||
pubbe | |||
bahū | |||
etaṃ | |||
bodhi | |||
kiṃ | |||
kaṃ | |||
kuṃ |
ที่มาจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น