วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

สอนภาษาบาลีสันสฤต


ไวยากรณ์ภาษาบาลี

               ในเอกสารนี้ใช้คำสองคำคือภาษามคธและภาษาบาลี แต่ต่อจากนี้ไปขอใช้คำว่าภาษาบาลีเพื่อจะได้ตรงกับรายวิชา  ไวยากรณ์ภาษาบาลีมีกฏเกณฑ์ที่แน่นอน ผู้เริ่มต้นศึกษาต้องรู้จักกับพยัญชนะและสระของภาษาบาลีก่อนจากนั้นจึงค่อยๆถ่ายเสียงภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน บาลีไวยากรณ์นั้นเขียนเป็นภาษาบาลีว่า “ปาลีเวยฺยากรณํ”  แปลว่าปกรณ์เป็นเครื่องทำให้แจ้งซึ่งบาลีมีบทวิเคราะห์ว่า ปาลึ วฺยากรโรติ เตนาติ ปาลิกรณํ แปลตามบทวิเคราะห์ว่า อาจารย์ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งบาลีด้วยปกรณ์นั้น เพราะเหตุนั้น ปกรณ์นั้นชื่อว่า ปาลิเวยฺยากรณํ   นักศึกษาภาษาบาลีในประเทศไทยได้นำคำว่า “บาลี” มาใช้ในความหมายว่า “ภาษาที่รักษาพุทธพจน์”  แต่คำว่า “บาลี” ไม่ใช่ภาษาแต่หมายถึงตำราหลักหรือคัมภีร์ชั้นต้นของพระพุทธศาสนาที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้  ดังนั้นก่อนที่จะศึกษาวิชาบาลีเพื่อการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนา จึงจำเป็นต้องรู้จักไวยากรณ์ภาษาบาลีโดยสังเขป
บาลีไวยากรณ์ 4 ภาค

               บาลีไวยากรณ์แบ่งออกเป็น 4 ภาคคือ อักขรวิธี  วจีวิภาค  วากยสัมพันธ์  และฉันทลักษณะ(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส,บาลีไวยากรณ์(สมัญญาภิธาน), พิมพ์ครั้งที่ 36,(กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2536), หน้า 5.

               1. อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น 2 คือ(1)สมัญญาภิธานแสดงชื่ออักษร ที่เป็นสระ และพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์  (2)สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่น ให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน
               2. วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น 6 ส่วน คือ นาม  อัพยยศัพท์  สมาส  ตัทธิต  อาขยาต  กิตต์
                3. วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยการก และประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาค ให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน
               4. ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์  
               ในชั้นนี้จะศึกษาเพียง 2 ภาคเท่านั้นคืออักขรวิธี  วจีวิภาค  ส่วนวากยสัมพันธ์  และฉันทลักษณะจะได้ศึกษาในชั้นสูงต่อไปอักษรภาษาบาลี(อักขรวิธี) 
               อักษรภาษาบาลีนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ เพราะได้สาบสูญไปนานมากแล้ว ในภายหลังเมื่อชนชาติใดจะนำภาษาบาลีไปใช้ ก็เพียงแต่นำเสียงหรือคำพูดไปใช้เท่านั้น วิธีการเขียนหรือสะกดก็จะเป็นเรื่องของชนชาตินั้นนำอักษรของตนไปใช้เอง ในที่นี้ขอแสดงการเขียนคำในภาษาบาลีด้วยอักษรภาษาไทยและอักษรภาษาอังกฤษ (โรมัน)

ความหมายของอักษร 

คำว่า "อักษร" มีความหมาย 2 อย่าง คือ 

1. มีความหมายว่า สภาพที่ไม่เสื่อมสิ้นไป ใช้เป็นชื่อเรียก พระนิพพาน
           มีวิเคราะห์ว่า ขรนฺติ วินสฺสนฺตีติ ขรา, สงฺขตา เต ยตฺถ น สนฺติ, ตํ อกฺขรํ, ขรสงขาตานํ วา สงฺขตานํ ปฏิปกฺขตฺตา อกฺขรํ         ธรรมที่ชื่อว่า ขระ เพราะ อรรถว่า ย่อมสิ้นไป เสื่อมไป,ได้แก่ สังขตธรรม, สังขตะธรรม เหล่านั้น ไม่มีในที่ใด ที่นั้น ชื่อว่าอักขระ อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า อักขระ เพราะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสังขตธรรม
  ในคัมภีร์อภิธานวรรณนา แปลว่า นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีความเสื่อมเหล่านั้น จึงชื่อว่า อักขระ, นิพพานชื่อว่า อักขระ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสังขตธรรม คือสิ่งที่เสื่อม คำว่า อักขระ จัดเป็นชื่อเรียกพระนิพพานอย่างหนึ่งในบรรดาชื่อพระนิพพานทั้งหมด 46 ชื่อ
2. หมายถึงตัวหนังสือ
               ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แสดงความหมายไว้ว่า อกฺขรํ อการาทิ อักษร มี อ อักษรเป็นต้นฯ คัมภีร์อภิธานวรรณนา แสดงความหมายของวัณณะ และอักษร ไว้ดังนี้  อตฺโถ วณฺณียติ ปกาสียติ เอเตนาติ วณฺโณ อักษรสำหรับใช้เขียนบอกเนื้อความชื่อว่า วัณณะ  น ขรนฺตีติ อกฺขโร วัณณะที่ใช้เขียนบอกเนื้อความนั้นเป็นสิ่งไม่สิ้นไป จึงได้ชื่อว่า อักขระ 



ที่มาจาก :  http://www.youtube.com/watch?v=qefhvjuQobI

http://www.cybervanaram.net/index.php?option=com_content&view=article&id=163:2010-06-17-02-56-34&catid=11:2010-06-17-02-44-14&Itemid=23

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น